เมนู

สุขเวทนาปัญหา ที่ 5


ราชา

สมเด็จพระเจ้ากรุงมิลินท์ปิ่นสาคลราช มีสุนทรพจนารถราชโองการตรัสถาม
อรรถปัญหาอื่นอีกเล่าว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาคเสนผู้เป็นเจ้า สุขเวทนาที่จะเสวยสุขนี้
เล่า จะเป็นกุสลาหรือ หรือว่าจะเป็นอกุสลา หรือว่าจะเป็น อัพยากตา ประการใด
พระนาคเสนวิสัชนาแก้ไขว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร สุขเวทนานี้จะว่า
เป็นกุสลาก็ว่าได้ จะว่าเป็นอกุสลาก็ว่าได้ จะว่าเป็นอัพยากตาก็ว่าได้ ขอถวายพระพร
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่
พระนาคเสนผู้ประกอบด้วยปัญญาปรีชา ถ้าพระผู้เป็นเจ้าว่าฉะนั้นแล้ว โยมยังสงสัย ด้วย
กุศลตกแต่งแล้วก็ให้สุข จะได้ทุกข์หามิได้
พระนาคเสนวิสัชนาแก้ไขว่า ไฉนบพิตรจึงสำคัญฉะนี้เล่า ถ้าอาตมาจะว่าบ้างว่า บุคคล
แรกกระทำกุศลเสวยทุกข์ เปรียบต่อบุคคลรักษาศีลกระนั้นต้องทรมานอดอยาก ที่เขาทำอกุศล
ได้ความสุขฉะนี้บ้างก็มี เปรียบดุจชายผู้หนึ่ง มือซ้ายตะพายหม้อน้ำ มือข้างนั้นก็เย็นนัก มือ
ข้างขวาถือก้อนเหล็กแดงร้อน นี้แหละจะว่ามือชายทั้งสองข้างร้อนหรือ หรือ จะว่ามือทั้งสองของ
ชายนั้นเย็นเป็นประการใด
พระเจ้ากรุงมิลินท์ปิ่นกษัตริย์ตรัสว่า ไม่รู้แห่งที่จะว่าได้ นะพระผู้เป็นเจ้า โยมนี้เล่ามิ
อาจจะต่อปากพระผู้เป็นเจ้าได้นิมนต์แก้ไขอรรถแห่งเวทนานี้ให้โยมแจ้งแจ่มใสออกไปในกาลบัดนี้
ตโต เถโร ลำดับนั้นพระนาคเสนเถระผู้วิเศษแก้ไขซึ่งเวทนา 108 ประการ ให้
บรมกษัตริย์สันนิษฐานเข้าพระทัยด้วยอภิธรรมกถา ถวายพระพรว่า มหาบพิตรพระราชสมภาร
เวทนามี 108 ประการ จึงจัดเอาเวทนาอันเป็นโสมนัส ฉเคหนิสฺสิตร อันอาศัยอยู่ในอารมณ์ 6
แห่งบุคคลยินดีในเบญจกามคุณนั้น จัดได้โสมนัสเวทนา 6 จึงจัดเอาโสมนัสเวทนาอันเป็นไป
ในอารมณ์ 6 แห่งท่านผู้ได้ปัญญาวิปัสสนานั้น จัดเป็นโสมนัสเวทนา 6 จึงยกเอาโทมนัสเวทนา
6 ในอารมณ์แห่งบุคคลยินดีในเบญจกามคุณ 6 และโทมนัสเวทนาในอารมณ์แห่งท่าน ได้
วิปัสสนาปัญญา 6 จัดเอาอุเบกขาเวทนาในอารมณ์แห่งบุคคลยินดีในเบญจกามคุณนั้น 6 จัด
เอาอุเบกขาเวทนาในอารมณ์แห่งท่านได้วิปัสสนาปัญญานั้น 6 สิริได้เวทนา 36 จึงเอา
เวทนา 36 นี้จัดเป็น อดีต 36 เป็นอนาคต 36 เป็นปัจจุบัน 36 สิริเข้าด้วยกันทั้ง 3 นี้ได้
เวทนา 108 ประการ บพิตรพระราชสมภารจงทราบพระญาณเถิด สุขเวทนาอันเสวยอารมณ์
เป็นสุขนี้จะว่าเป็นฝ่ายกุศลก็ผิด จะว่าเป็นอกุศลก็ผิด จะว่าเป็นอัพยากฤตก็ผิด จะว่าไม่เป็นก็ผิด